Words: Artit polsukcharoen
จากบทความ ทำความรู้จักนาฬิกาเหล็กที่แพงกว่าทอง ทำให้เราได้รู้ว่าเหล็กเกรดอะไรบ้างที่นำมาใช้ผลิตนาฬิกา ในบทความนี้ เรามาทำรู้จักโลหะสูงค่าหรือ precious metal ว่ามีแบบไหนอย่างไรบ้าง
มนุษย์เราเริ่มต้นการใช้โลหะสูงค่า หรือ precious metal มาทำตัวเรือนนาฬิกา ตั้งแต่สมัยนาฬิกาพกเมื่อกว่า 100 ปีก่อน จนถึงนาฬิกาข้อมือที่เริ่มต้นในยุค 1930s และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ทำไมต้องทองคำ 18K ?
เพราะว่าทองคำบริสุทธิ์ 99.99% หรือ 24K มีความแข็งไม่พอที่จะทำตัวเรือนหรือสายนาฬิกา จึงต้องมีส่วนผสมของโลหะชนิดอื่นเข้าไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
ดังนั้นตัวเรือนหรือสายนาฬิกาจะมีทองคำ 75% ผสมกับโลหะอื่นอีก 25% ที่ทำให้เกิดโลหะมีค่าที่แข็งแกร่งขึ้น โดยสีต่างๆเกิดจากสีของโลหะที่นำมาผสมกับของคำดังนี้
Yellow Gold
ส่วนผสม: ทองคำ 75% + เงิน 16% + ทองแดง 9%
White Gold
ส่วนผสม: ทองคำ 75% + เงิน 5%+ พาลาเดียม 20%
Pink or Rose Gold
ส่วนผสม: ทองคำ 75% + เงิน 9 % + ทองแดง 16 %
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่านาฬิกาเรือนนั้นเป็นทองคำ 18K แท้หรือไม่ โดยการสังเกตได้จากน้ำหนัก เพราะทองคำแท้จะมีน้ำหนักมากกว่าโลหะอื่นๆในขนาดเท่ากัน
หรือจากการสังเกตสัญลักษณ์บนตัวเรือน โดยปกตินาฬิกาทองคำ 18K จะใช้สัญลักษณ์สากล เช่น 750, 18K หรืออาจจะเป็นรูปหัวสุนัขพันธุ์เซนต์เบอนาร์ด(คนไทยเรียกหัวหมา) หรือเป็นรูปสตรียุโรป(คนไทยเรียกหัวแหม่ม)
โลหะสูงค่าอีกชนิดที่นิยมนำมาใช้ผลิตนาฬิกา คือ Platinum หรือ Pt โดยมีส่วนผสม Platinum 95% + ruthenium หรือ iridium 5% และมักจะมีการปั๊ม hallmark เป็นตัวเลข 950
ส่วนมาก platinum จะถูกนำไปใช้ในนาฬิการุ่นสูงที่สุด เพราะถือว่าเป็นโลหะที่มีมูลค่าและหายากที่สุด ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากในการทำตัวเรือนและสาย เพราะ Platinum มีความแข็งมากกว่าทองคำหรือเหล็ก
สำหรับตลาดตอนนี้กระแสนิยมพุ่งตรงไปที่เหล็กมากกว่าทองคำ แต่สุดท้ายมูลค่าที่แท้จริงๆนั้นทองคำก็ยังคงสูงว่าเหล็ก ดังนั้นการเลือกซื้อนาฬิกาไม่ว่าจะใช้งานหรือสะสม ควรเลือกนาฬิกาที่เราชอบมากกว่าอิงแต่กระแสนิยมอย่างเดียว ยกเว้นจะมองนาฬิกาเป็นแค่การลงทุนระยะสั้นเท่านั้น