Words: Artit Polsukcharoen
งาน SIHH 2019 ที่ผ่านมา Jaeger LeCoutlre หรือ JLC เปิดตัวนาฬิกา collection ใหม่ในงานหลายรุ่น และมีหลายคนรอคอยที่จะได้สัมผัสตัวจริง และเมื่อ JLC New Collection จากงาน SIHH 2019 บางส่วนได้เดินทางมาให้สัมผัสถึงประเทศไทย WatchesSiam ก็ไม่พลาดโอกาสนี้ และได้เก็บภาพเรือนจริงมาให้ชมกันก่อนที่จะวางจำหน่ายจริงในประเทศไทย จากที่เราได้สัมผัส Master Ultra Thin Date ไปแล้ว คราวนี้เรามาลองสัมผัสกลไกที่มีความซับซ้อนขั้นสูงในวงการนาฬิกาอย่าง Tourbillon
Master Ultra Thin Tourbillon ref.1682410
ตัวเรือน 18k pink gold ขนาด 40mm หนา 10.7mm ถือว่าบางมากสำหรับนาฬิกากลไกทูบิยอง เพราะโดยปกตินาฬิกาทูบิยองจะเรือนใหญ่และหนา เพราะต้องใช้พื้นที่ในส่วนของกรงทูบิยองมากพอสมควร แต่สำหรับ JLC สามารถใส่ฟังก์ชั่นทูบิยองลงไปในตัวเรือนบางขนาดนี้ได้ ถือว่าเป็นสุดยอดการออกแบบจริงๆ กลไก cal.978G ที่มีชิ้นส่วนมากถึง 271 ชิ้น แต่มีความหนาเพียง 6.5mm อาจจะบางกว่ากลไกอัตโนมัติปกติของนาฬิกาหลายๆยี่ห้อเลยด้วยซ้ำ กลไกทูบิยองมีความซับซ้อนในระดับ Grand Complication คิดค้นโดย Abraham Louis Breguet ในปี 1795 หรือกว่า 220 ปีมาแล้ว
ตามหลักการทำงานของกลไกทูบิยอง เป็นการนำชุด Balance Wheel และ Escapement ไปประกอบเอาไว้ในกรงที่หมุนรอบตัวเองได้ เพื่อทำให้เกิดการต้านทานแรงโน้มถ่วงโลก ในการตรึง Balance Wheel และ Escapement ไม่ให้เคลื่อนที่ออกจากจุดใดจุดนึงมากเกินไปจนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนภายในกลไก และทำให้นาฬิกาเดินได้อย่างเที่ยงตรงไม่ว่าจะสวมใส่หรือวางอยู่ในท่าไหนก็ตาม อาทิ ตะแคงข้างซ้าย-ขวา คว่ำหน้าปัดลง-หงายหน้าปัดขึ้น หรือ ตั้งตัวเรือนขึ้น-กลับหัวลง
ตัว Bridge ที่เป็นแกนกลางยึดกรงทูบิยองด้านหน้ากับเข็มวินาที Blue Steel ทำจากทองคำแท้ 18K
หน้าปัดเป็นสีครีมเปลือกไข่ ออกแบบมาร์กเกอร์ที่เรียวยาวสวยสมดุลมากขึ้น และเข็มดาบแบบ 2 คมปลายเรียวแหลม รวมถึงโลโก้ JL ผลิตจากทองคำ 18K
กลไก cal.978G ขัดแต่งเครื่องเป็นลาย Sun Ray ที่เหมือนมีรัศมีเปล่งออกมาจากตรงจุดศูนย์กลาง พร้อมกับ Rotor แบบใหม่ทำจากทองคำ 18k ทั้งชิ้น เพิ่มน้ำหนักในการเข้าลานได้สมดุลและรวดเร็วมากกว่าแบบเดิมที่เป็นโลหะผสมแล้วถ่วงด้วยทองคำที่ขอบ Rotor เท่านั้น ยึด bridge, กรง tourbillon และแกนลูกปืน rotor ด้วย blue screw ที่สวยงามและแข็งแรง
ความรู้สึกเมื่อได้ลองสวมใส่บนข้อมือขนาด 6″ ไม่ได้รู้สึกต่างจาก Master Ultra Thin Date เท่าไรนัก อาจจะเป็นเพราะขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาเพียง 1mm ด้วยทรงและขาของตัวเรือนเป็นแบบเดียวกัน อาจจะต่างเรื่องความกระชับเล็กน้อย เพราะตัวเรือนที่หนาขึ้นและน้ำหนักจากตัวเรือน 18k Rose Gold ที่บอกเลยว่าต่างกันแบบรู้สึกได้ชัดเจน
เมื่อคล้องกับสายหนังจระเข้สีน้ำตาล ยิ่งทำให้รู้สึกเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับสีของตัวเรือนและหน้าปัด ถือว่าลงตัวมากๆสำหรับงานขัดแต่งตัวเรือนและกลไกสวยงามปราณีต เหมาะสมกับนาฬิการะดับเรือธงของแบรนด์ Jaeger LeCoultre
จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของ JLC ด้วยผลงานการออกแบบและผลิตเครื่องให้แบรนด์ชั้นนำมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน Master Ultra Thin Tourbillon ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดในราคาป้าย 2,430,000 บาท เพราะถ้าไปอยู่ในแบรนด์ที่ระดับสูงกว่านี้อาจจะต้องจ่ายมากกว่า 2-3 เท่าแน่นอน