วันที่ 29 กุมภาพันธ์ มีความเกี่ยวข้องกับนาฬิกา Perpetual Calendar อย่างไร

Words: Artit Polsukcharoen

1 ปี มี 12 เดือน แต่ละเดือนจะมีจำนวนวันที่แตกต่างกัน อาทิ เดือนที่ลงท้ายด้วย ‘คม’ มี 31 วัน และเดือนที่ลงท้ายด้วย ‘ยน’ มี 30 วัน ส่วนเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน แต่บางปีกลับมี 29 วัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะสาเหตุที่ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ในบางปีมี 29 วัน เป็นเพราะโลกของเราจะใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ตามหลักปฏิทินสุริยคติสามัญ (Gregorian Calendar) เป็นเวลาประมาณ 365.25 วัน จึงมีการทบเศษ 0.25 วัน ในแต่ละปีไปรวมเอาไว้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่จะเกิดขึ้นทุก 4 ปี โดยเรียกว่า ปีอธิกสุรทิน (Leap Year) นั่นเอง

Patek Philippe Perpetual Calendar Ref.5320G

สำหรับนาฬิกาที่มีฟังก์ชันบอกปฎิทิน (วัน เดือน วันที่) จะต้องปรับวันที่และเดือนด้วยตนเองเรียกว่า Complete Calendar และนาฬิกาที่สามารถเปลี่ยนวันที่และเดือนที่ลงท้ายด้วย ‘คม’ และ ‘ยน’ เรียกว่า Annual Calendar ซึ่งยังคงต้องปรับตั้งวันที่ด้วยตนเองในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

Patek Philippe Cal.324 S Q

จนมีการคิดค้นฟังก์ชัน Perpetual Calendar หรือปฏิทินถาวรบนนาฬิกาข้อมือครั้งแรกในปี 1925 โดย Patek Philippe  ซึ่งมีความสามารถที่จะรู้ได้ว่าปีไหนเป็นปีอธิกสุรทิน (Leap Yaer) และเปลี่ยนวันที่ในวันสิ้นเดือนกุมภาพันธ์อัตโนมัติ ถือเป็นการก้าวข้ามขีดความสามารถของนาฬิกาทั่วไปอย่างมาก และนับเป็นฟังก์ชันที่มีกลไกซับซ้อนในระดับสูง (Grand Complication) มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน 

สำหรับท่านที่เป็นเจ้าของนาฬิกา Perpetual Calendar สามารถรอชมการเปลี่ยนวันที่จากวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ไปเป็นวันที่ 1 มีนาคมได้ในช่วงเที่ยงคืน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 4 ปี/ครั้งเท่านั้น