Words: Artit polsukcharoen
Blancpain เริ่มก่อตั้งในปี 1735 โดย Jehan-Jacques Blancpain ที่หมู่บ้าน Villeret แถบเทือกเขา Jura ดำเนินกิจการและสร้างสรรค์นาฬิกาออกมามากมายในฐานะแบรนด์นาฬิกาที่เป็นธุรกิจครอบครัวต่อเนื่องกันเป็นเวลา 200 ปี

จนเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างกับ Blancpain โดยเริ่มจากปี 1932 Frédéric-Emile Blancpain ทายาทรุ่นที่ 7 ได้เสียชีวิตลง แต่บริษัทยังดำเนินธุรกิจต่อไป ด้วยการขึ้นมาบริหารงานโดยผู้ช่วยของเขา Betty Fiechter ในฐานะ CEO คนแรกที่ไม่ใช่ทายาทของตระกูล Blancpain และเป็น CEO หญิงคนแรกของบริษัทผลิตนาฬิกาชั้นนำ

ต่อมาในปี 1950 Betty ได้ผู้ช่วยคนใหม่ Jean Jacques Fiechter หลานชายของเธอ ซี่งกลายเป็น CEO คนต่อมาของ Blancpain ที่มีส่วนสำคัญในการให้กำเนิด Fifty Fathoms นาฬิกาดำน้ำระดับมืออาชีพเรือนแรกของโลกที่ยังคงเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1961 เมื่อ Blancpain ถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม SSIH (Société Suisse pour I’Industrie Horlogere) ร่วมกับ Tissot, Omega, Lemania และกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตกลไกให้กับกลุ่ม SSIH ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ Quartz Crisis ในช่วงปี 1970s ทำให้นาฬิกาสวิสหลายแบรนด์ต้องปรับตัวด้วยการผลิตนาฬิกา Quartz ออกมาจำหน่ายเพื่อความอยู่รอด และแบรนด์ที่ผลิตแต่กลไกจักรกลเพียงอย่างเดียวก็ทยอยล้มหายตายจากกันไป

ต่อมาในปี 1982 Frédéric Piguet บริษัทผู้ผลิตกลไกนาฬิการายใหญ่ของสวิส ได้เข้าซื้อกิจการ Blancpain อีกครั้ง และแต่งตั้งให้ Jean-Claude Biver คีย์แมนคนสำคัญที่มีส่วนร่วมในการทำให้ชื่อ Blancpain กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งในปี 1983 ด้วยการเปิดตัวนาฬิกาเดรสที่ใช้กลไกจักรกลที่ผลิตด้วยความปราณีตตามขั้นตอนและรูปแบบประเพณีดั้งเดิมของช่างฝีมือสวิส จนได้นาฬิกาที่มีคุณภาพสูงสุดออกวางจำหน่าย ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า “ตั้งแต่ปี 1735 เป็นต้นมา Blancpain ไม่เคยและไม่มีวันที่จะมีนาฬิกา Quartz”
หลังจากนั้น Blancpain ได้นำเสนอคอลเลคชั่นพิเศษที่รวบรวมสุดยอดกลไกและฟังก์ชั่น ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมทุกขั้นตอนในโรงงานที่เมือง Le Brassus ในนาม The Six Masterpieces ที่ประกอบไปด้วยนาฬิกา 6 รุ่น ได้แก่

Ultra Slim
นาฬิกาที่สร้างโดยแรงบันดาลใจของช่างนาฬิกาที่อยากสร้างเรือนเวลาที่สามารถบอกเวลาได้อย่างเที่ยงตรงผ่านตัวเรือนที่บางเฉียบไม่ต่างกับนาฬิกาควอทซ์ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคนั้น แต่ขับเคลื่อนด้วยระบบกลไกแบบดั้งเดิม

Moon Phases
Moon Phase หรือดวงจันทร์บนหน้าปัดที่บอกข้างขึ้นข้างแรมและระบบ Complete Calendar หนึ่งในฟังก์ชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคก่อนที่จะเกิด Quartz Crisis โดย Blancpain นำฟังก์ชั่นนี้กลับมาผลิตขึ้นใหม่ผ่านกลไกจักรกลในช่วงต้นยุค 1980s อีกครั้ง

Split-Seconds Chronograph
นาฬิกาจับเวลาที่เหมาะกับการบิน, การแล่นเรือใบและการแข่งรถยนต์ ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ฟังก์ชั่นจับเวลาในช่วงสั้นๆ 2 ช่วงเวลา ถือว่าเป็นกลไกที่มหัศจรรย์มากในยุคนั้น

Perpetual Calendar
ช่างนาฬิกาของ Blancpain ทำงานอย่างหนักจนสามารถผลิตนาฬิกาฟังก์ชั่นปฏิทินถาวร หรือ Perpetual Calendar ที่สามารถบอกวันที่-วัน-เดือน-ปีอธิกสุรทินได้อย่างแม่นยำตลอด 100 ปี ในตัวเรือนที่บางเฉียบ

Tourbillon
ชิ้นส่วนกว่า 50 ชิ้น ถูกนำมาประกอบเป็นกลไก Tourbillon ที่หมุนรอบตัวเองทุกๆ 60 วินาที เพื่อต้านทานแรงโน้มถ่วงโลก โดยควบคุมการทำงานของ Balance Wheel และ Escapement ให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด นับเป็นนาฬิกาจักรกลที่เดินได้อย่างเที่ยงตรงในทุกตำแหน่ง

Minute Repeater
การบอกเวลาด้วยเสียงเป็นฟังก์ชั่นที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อบอกเวลาในที่มืด สามารถบอกเวลาได้ทั้งชั่วโมงและนาที ด้วยกลไกที่ทำให้เกิดเสียงเคาะระฆัง ถือเป็นกลไกที่มีความซับซ้อนขั้นสูงที่ช่างของ Blancpain สามารถประดิษฐ์ได้ในตัวเรือนขนาดเล็กและบางเฉียบ

จนกระทั่งปี 1992 กลุ่ม SMH (Swiss Corporation for Microelectronics and Watchmaking Industries) ปัจจุบันคือ Swatch Group เข้าซื้อกิจการของ Frédéric Piguet และ Blancapin โดยเปิดตัวคอลเลคชั่น Villeret ด้วยการนำรูปแบบของนาฬิกาเดรสที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้วยขอบหน้าปัดเล่นระดับ ตัวเรือนบาง และมีความหลากหลายตั้งแต่ฟังก์ชั่นที่เรียบง่ายไปจนถึงกลไกสุดยอดซับซ้อน
โดยการนำชื่อหมู่บ้าน Villeret มาใช้เพื่อระลึกถึงจุดกำเนิดของ Blancpain ตั้งแต่ปี 1735 จนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นแบรนด์นาฬิกาเก่าแก่ที่สุดในโลก
ไฮไลท์นาฬิการุ่นใหม่จากคอลเลคชั่น “Villeret” ปี 2018-2019
Blancpain Villeret Ultraplate

นาฬิกาเดรสเรียบหรูตัวแทนคอลเลคชั่น Villeret ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรุ่น Ultra Slim หนี่งใน The Six-Masterpieces ตัวเรือนเรดโกลด์ 18 กะรัต ขนาด 40 มิลลิเมตร บางเฉียบเพียง 7.39 มิลลิเมตร ขอบหน้าปัดแบบเล่นระดับสองชั้น หน้าปัดเกลี้ยงเกลาพร้อมฟังก์ชั่นบอกเวลา 2 เข็มทรงใบเสจและมาร์กเกอร์เลขโรมันผลิตจากทองคำเรดโกลด์สะท้อนความคลาสสิค

ภายในตัวเรือนบางเฉียบขับเคลื่อนด้วยกลไกไขลาน cal.11A4B ที่พัฒนาจากกลไก Cal.1150 ของ Frederic Piguet อันเลื่องชื่อ ใช้ชิ้นส่วนมากถึง 131 ชิ้น บรรจุกระปุกลานคู่สำรองพลังงานได้ยาวนานมากถึง 95 ชั่วโมง ในความความหนาเพียง 2.80 มิลลิเมตร ได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งกลไกบางพิเศษแบบนี้นับเป็นกลไกคอมพลิเคชั่นประเภทหนึ่ง เพราะต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการผลิตชิ้นส่วน ขัดแต่ง และประกอบเป็นกลไกที่สามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรง
Blancpain Villeret Tourbillon Heure Sautante Minutes Retrograde

Blancpain นำฟังก์ชั่น Flying Tourbillon มาใส่ในนาฬิกาข้อมือเป็นครั้งแรกของโลกในปี 1989 โดยใช้เทคนิคการนำแผ่นดิสก์แบบใสที่ผลิตจากแซฟไฟร์มาใส่แทน Lower Bridge ทำให้มองเห็นการทำงานของ Tourbillon cage, Balance Wheel, Escapement เหมือนลอยอยู่กลางอากาศ และเมื่อถูกนำมารวมกับฟังก์ชั่น Jump Hour ที่ใช้จานตัวเลขบอกชั่วโมงและฟังก์ชั่น Retrograde Minutes บอกนาทีด้วยเข็มกวาด ทำให้กลายเป็นนาฬิกากลไกที่มีความซับซ้อนขั้นสุดยอดเรือนนึงของโลก

นอกจากเทคนิคการผลิตกลไกอันซับซ้อนแล้ว ความสวยงามของนาฬิกาก็อยู่ในระดับสูงสุดเช่นกัน ด้วยตัวเรือนเรดโกลด์ 18 กะรัต ขนาด 42 มิลลิเมตร มีการทำตัวเรือนแบบเล่นระดับ 2 ชั้น ในส่วนของหน้าปัดเคลือบลงยาด้วยศิลปะ Grand Feu โดยใช้เทคนิค Champlevé ด้วยการเจาะช่องบนแผ่นหน้าปัดทองคำและลงยาด้วยมือตามแบบช่างฝีมือสวิสดั้งเดิม

กลไกไขลาน Cal.260R สำรองพลังงานได้ยาวนานถึง 144 ชั่วโมง หรือ 6 วัน ผ่านการประกอบและขัดแต่งอย่างวิจิตรบรรจงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตกแต่ง Bridge รวมถึงกระปุกเฟืองและ Power reserved scale ด้วยลวดลาย Guilloche ที่แกะสลักด้วยมือ โดยขั้นตอนทั้งหมดของนาฬิกาเรือนนี้ ถูกผลิตในสตูดิโอ Métiers d’Art ณ เมือง Le Brassus โดยช่างฝืมือระดับของ Blancpain ด้วยวิธีการดั้งเดิม