มาทำความรู้จัก “เหล็ก” ที่แพงกว่า “ทอง” กันดีกว่า

Words: Artit Polsukcharoen

ถ้าติดตามวงการนาฬิกาในช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนาฬิกาสปอร์ตที่ใช้วัสดุ stainless steel หรือเรือนเหล็กของแบรนด์ที่อยู่ในกระแส จะได้รับความนิยมมากกว่านาฬิกาเรือนทองคำ ทำให้นาฬิกาเรือนเหล็กบางรุ่นราคาขายต่อในตลาดทั้งของใหม่และมือสองแพงกว่าเรือนทองคำ ซึ่งในความเป็นจริงราคาป้ายจากตัวแทนจำหน่ายหรือต้นทุนการผลิตจากโรงงาน ทองคำ 18K ย่อมสูงกว่า Stainless Steel อยู่แล้ว

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระแสนิยมนาฬิกาเหล็กมากกว่าทองคำ ส่วนหนึ่งเกิดจากภาพจำของนาฬิกาสปอร์ตในอดีต เรือนที่ผลิตจากเหล็กราคาขายต่อในปัจจุบันสูงกว่าทองคำเกือบทุกรุ่น ทำให้คนนิยมเลือกที่จะเก็บนาฬิกาสปอร์ตเรือนเหล็กจนเป็นกระแสไปทั่วโลก แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการลงทุนหรือการสะสม คงไม่มีใครรู้แน่นอนว่าความนิยมนี้จะอยู่นานแค่ไหน คงต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลเท่านั้น

เรามาทำความรู้จัก Stainless Steel ที่นำมาผลิตนาฬิกา ว่าเป็นอย่างไร มีเกรดไหนบ้างที่สามารถนำมาผลิตเป็นนาฬิกาที่พวกเรานิยมกันทุกวันนี้ ซี่งStainless Steel เป็นโลหะผสม ซึ่งประกอบด้วยเหล็กคาร์บอนและโครเมียมอย่างน้อย 10.5% ซึ่งมีความแข็งแรงและทนการกัดกร่อนหรือเกิดสนิมได้ ด้วยคุณสมบัตินี้ จึงทำให้เป็นวัสดุที่เหมาะสมที่จะนำมาผลิตนาฬิกาข้อมือ

โดยสามารถแบ่งเกรดของ Stainless Steel ที่นำมาใช้ผลิตนาฬิกาดังนี้

201
สแตนเลสเกรดต่ำสุดที่ใช้ในนาฬิกา ประกอบด้วยโครเมียม 16-18% และมีปริมาณนิกเกิลต่ำ (3.5-5.5%) เป็นเกรดที่แข็งที่สุดในบรรดาสแตนเลสทั้งหมด แต่มีความต้านทานต่ำสุดต่อการกัดกร่อนและการเกิดสนิม ส่วนมากอยุ่ในนาฬิการาคาถูกหรือนาฬิกาปลอม

304L
สแตนเลสที่ถือว่ามีคุณภาพมากที่สุด เพราะมีโครเมียมระหว่าง 18-20 เปอร์เซ็นต์และนิกเกิลมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์ นาฬิกาสแตนเลสเกรด 304L มีความทนทานต่อการเกิดสนิมสูงและทนทานต่อการกัดกร่อนจากกรดออกซิไดซ์ส่วนใหญ่
แต่จุดอ่อนของ 304L คือ มีความอ่อนไหวต่อการกัดกร่อนจากสารละลายจำพวกคลอไรด์ที่อาจทำให้เกิด “pitting” หรือ รูพรุนเล็กๆบนผิวโลหะ (รอยผุตามดที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า) ส่วนมากจะอยู่ในนาฬิการะดับกลางราคาไม่สูงนัก

316L
โดยลักษณะทางกายภาพที่แข็งแรงใกล้เคียงกับ 304L แต่มีส่วนผสมของโมลิบดีนัม สูงกว่า 2-3% ทำให้ทนต่อการกัดกร่อนจากสารละลายจำพวกคลอไรด์ได้มากว่า และสามารถนำไปใช้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย จนหลายคนเรียกสแตนเลสเกรดนี้ว่า “เกรดมีดผ่าตัด” ส่วนมากจะที่ได้รับความนิยมจากแบรนด์นาฬิการาคาสูง ไม่ว่าจะเป็น Omega, Panerai, IWC , JLC หรือแบรนด์หรูหราอย่าง Patek Philippe, Audemars Piguet, Vacheron Constantin ก็เลือกใช้ 316L ซึ่งถือว่าเป็นเกรด “มาตรฐาน” ของนาฬิการะดับสูง

904L
มีส่วนผสมของปริมาณโครเมียม (19-23%) โมลิบดีนัม (5%) และนิกเกิล (23-28%) จุดเด่นตรงที่มีส่วนผสมของนิกเกิลสูงกว่า 316L ทำให้แข็งแรงและทนการกัดกร่อนได้ดีกว่า แต่อาจจะไม่เหมาะผู้ที่แพ้นิกเกิล นาฬิกาสแตนเลสของ Rolex ในปัจจุบันใช้เกรด 904L ทั้งหมด

หลังจากที่ได้รู้จักเกรดของนาฬิกา Stainless Steel แล้ว เราจะได้มีแนวทางในการเลือกซื้อนาฬิกาที่ผลิตจาก Stainless Steel ในด้านคุณสมบัติของวัสดุ ควบคู่ไปกับความชอบและความนิยมของตลาดในปัจจุบั