รีวิว SEIKO Prospex Diver’s 300M SLA021J1 – SBDX023 “New MM300”

Words: Artit Polsukcharoen

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2000 SEIKO เปิดตัว Historical Collection SBDX003 limited edition 500 เรือน โดยแรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาดำน้ำระดับมืออาชีพในอดีตรุ่น 6215-7000 ปี 1967 ที่ดำน้ำได้ลึกถึง 300 เมตร ด้วยตัวเรือนชิ้นเดียวแบบ monocoque ไม่มีชิ้นส่วนฝาหลัง เหมือนรุ่นในอดีตที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนในการผลิต

SEIKO SBDX003 Historic Collection

กลไก cal.8L35 พื้นฐานเดียวกับตระกูล 9S ของ Grand Seiko มีจุดเด่นตรงมาร์กเกอร์และเข็มสีทองเหมือนรุ่น vintage มาพร้อมกับสายยางเท่านั้น

SEIKO SBDX001 Marinemaster 300m

หลังจาก SBDX003 จำหน่ายหมดไปอย่างรวดเร็ว SEIKO วางจำหน่าย SBDX001 ต่อเนื่อง โดยใช้ตัวเรือนเหมือน SBDX003 ทุกอย่าง แต่เปลี่ยนมาร์กเกอร์ เข็ม เป็นสีเงิน เพิ่มคำว่า “Marinemaster” บนหน้าปัด จนเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากว่า “MM300” (MarineMaster 300m) มาพร้อมกับสายเหล็กและสายยางสำรองในเซต

SBDX001 วางขายต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปี 2015 มีการเปลี่ยนแปลงรหัสเป็น SBDX017 มีเคลือบผิวโลหะเพื่อป้องกันรอยขีดข่วน ที่เรียกว่า Diashield โดยมีจุดสังเกตความแตกต่างได้ระหว่างรุ่น ที่เม็ดมะยมของ SBDX017 มีการยิงเลเซอร์โลโก้ X และสลักคำว่า “Made in Japan A” ที่เคสด้านหลังแทน “Japan A”

SEIKO SBDX021 Deep Forest

ในงาน Baselworld 2018 SEIKO เปิดตัว SBDX021 โดยเลือกใช้หน้าปัดและขอบ Bezel สีเขียวตามคอนเซ็ปต์ “Deep Forest” ผลิตแบบ Limited Edition 1968 เรือน

มีความเปลี่ยนแปลงภายนอกจาก SBDX001 และ 017 ที่กระจกแซฟไฟร์เคลือบตัดแสงสะท้อนด้านใน, ขอบ Bezel เซรามิก กันรอยขีดข่วน, พรายน้ำแบบใหม่ที่เรืองแสงสว่างกว่ารุ่นเดิม 1.6 เท่า และเคลือบตัวเรือนกันรอยขีดข่วนแบบ Diashield

ในขณะที่รุ่นนี้เปิดตัวและวางจำหน่าย แฟนไซโก้ก็คาดเดากันจนเป็นกระแสว่าจะเป็นต้นแบบของ SEIKO Diver Professional 300m ตัวใหม่

จนกระทั่งช่วงปลายปี 2018 SEIKO เปิดตัว Diver Professional 300m ตัวใหม่ ใช้รหัส SBDX023 ในญี่ปุ่น และใช้รหัส SLA021J1 ทั่วโลก โดยหน้าตา วัสดุ กลไก กล่องและอุปกรณ์เหมือนกันทุกอย่าง

ความแตกต่างแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ หน้าปัด เพราะไซโก้ได้ยกเอาหน้าปัดแบบเดียวกับ SBDX021 มาใช้เลย เพียงแค่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีดำด้าน ใช้โลโก้ “X” แทนคำว่า “Marinemaster” บนหน้าปัด เพื่อแสดงถึงนาฬิกาในกลุ่ม Prospex หรือนาฬิกาสำหรับมืออาชีพ

รายละเอียดที่มีความประณีตและไม่ค่อยได้เห็นในแบรนด์อื่นๆ คือ การขัดแต่งเข็มชั่วโมง, นาที และเพิ่มรายละเอียดลงไปตรงเข็มวินาทีสีทองทำให้มองเห็นเข็มวินาทีชัดขึ้น และเข้ากับตัวอักษร 300m ที่มีสีทองเช่นเดียวกัน

ภายในบรรจุกลไก cal.8L35 ความถี่ 4Hz (28,800 vph) สำรองพลังงาน 50 ชั่วโมง จากประสบการณ์ใช้งานกลไกนี้ด้วยตนเอง เป็นกลไกที่ดีมาก ทนทาน เที่ยงตรง แม้การใช้งานมามาแล้วกว่า 10 ปี ก็ยังคงความเที่ยงตรงในระดับที่ใช้งานได้ตามปกติ

ตัวเรือน monocoque แบบดั้งเดิม ที่สามารถดำน้ำลึก 300 เมตร ตามมาตรฐานของนาฬิกาดำน้ำระดับมืออาชีพ เป็นเอกลักษณ์ของ SEIKO ที่ไม่มีใครเหมือน ถือเป็นความคลาสสิคที่ส่งต่อมาตั้งแต่ปี 1967 อย่างครบถ้วน

ด้านหลังสลักโลโก้เกลียวคลื่น เป็นสัญลักษณ์ของนาฬิกาดำน้ำ SEIKO ทุกรุ่น และนาฬิการุ่นนี้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

เปลี่ยนกระจกหน้าปัดจากฮาร์ดเล็กซ์ มาเป็นแซฟไฟร์เคลือบตัดแสงด้านใน ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่และช่วยลดแสงสะท้อนบนผิวกระจกทำให้มองหน้าปัดชัดเจนมากขึ้น

ขอบ Bezel เปลี่ยนเป็นเซรามิกสีดำเงากันรอยขีดข่วน มีพรายน้ำตรงมาร์คเกอร์ 3 เหลี่ยมตำแหน่ง 60 นาที และตำแหน่ง 1-20 นาที เพิ่มความสะดวกให้นักดำน้ำใช้คำนวณเวลาในขณะปฎิบัติงานใต้น้ำ

ตัวเรือนขนาด 44.3mm หนา 15.4mm เมื่อเทียบกับ SBDX001 ที่หนา 14.6mm ต่างกัน 0.8 mm ถือว่าไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง ขอบ Bezel มีความหนา เซาะร่องกันลื่น จับถนัดแม้ต้องใส่ถุงมือในขณะใช้งาน

งานขัดตัวเรือนและสายเป็นแบบปัดด้านสลับเงา สายเหล็ก, Buckle และ Extension link เหมือนรุ่นเดิม แต่ผิวสัมผัสจะรู้สึกถึงความเงาและลื่นขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการเคลือบ Diashield ลดรอยขีดข่วน

ขนาดตัวเรือนเมื่อทาบบนข้อมือขนาด 6″ ไม่รู้สึกเทอะทะ ความหนาที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยไม่มีผลต่อความรู้สึกเลย แต่ในส่วนของสายเหล็ก ถ้าปรับให้สายหนาขึ้นมาจากเดิม จะทำให้บาลานซ์ระหว่างตัวเรือนกับสายอยู่ในระดับที่สมบูรณ์แบบ

ราคา 110,000 บาท เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มา อาทิ ขอบ Bezel เซรามิก, กระจกแซฟไฟร์, ตัวเรือนเคลือบ Diashield และได้งานขัดแต่งตัวเรือน งานประกอบจากญี่ปุ่น กลไก cal.8L35 ถือว่าคุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับนาฬิกาสวิสที่อยู่ในระดับราคาเดียวกัน