Jaeger-LeCoultre Duometre Chronograph Moon การกลับมาอีกครั้งของนาฬิกา Grand Complication แห่งความภาคภูมิใจ

จากงาน Watches & Wonders 2024 แบรนด์ Jaeger-LeCoultre ได้นำความภาคภูมิใจของแบรนด์กลับมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวนาฬิกาที่มาพร้อมกับมีฟังก์ชันการทำงานอันน่าทึ่ง ซึ่งเกิดจากความสลับซับซ้อนของกลไกจักรกล โดยผ่านการออกแบบและผลิตขึ้นโดยช่างนาฬิการะดับปรมาจารย์ของแบรนด์ในทุกขั้นตอนภายในโรงงานของตนเอง จนกลายเรือนเวลารุ่นใหม่ในคอลเลกชัน Duometre ในปี 2024 

เริ่มต้นที่นาฬิการุ่น Duometre Chronograph Moon ที่มาพร้อมกับกลไกสุดยอดแห่งความซับซ้อน Cal.391 ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากกระปุกลานคู่ที่สามารถสำรองพลังงานได้มากถึง 50 ชั่วโมงต่อหนึ่งกระปุกลาน เพื่อแยกกันทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนฟังก์ชันบอกเวลา, Moonphase บอกข้างขึ้นข้างแรมที่ละเอียดในระดับ 29.53 วัน ฟังก์ชันบอกเวลากลางวัน-กลางคืน และฟังก์ชันการจับเวลาที่ละเอียดถึง ⅙ วินาที และจับเวลาต่อเนื่องได้ 60 นาที ไปจนสูงสุดถึง 12 ชั่วโมง ที่ผ่านระบบการควบคุมการจับเวลาแบบ Mono Pusher ที่ถือเป็นระบบจับเวลาที่คลาสสิกและเก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย 

นอกจากความสามารถในการบอกเวลาและจับเวลาแล้ว กลไกจักรกล Cal.391 ที่ทาง Jaeger-LeCoultre ได้เลือกใช้กลไกขึ้นลานด้วยมือหรือ Manual Hand Wound เพื่อที่หลีกเลี่ยงการวาง Rotor ขึ้นลานของกลไก Automatic ที่จะมาบดบังการวางเลย์เอาท์อันงดงาม และถูกจัดวางไว้อย่างซับซ้อน จนทำให้เกิดมิติตื้นลึกจนเหมือนกับว่าชิ้นส่วนกลไกต่าง ๆ ลอยแยกออกจากกัน รวมทั้งยังมีการขัดแต่งชิ้นส่วนต่าง ๆ ด้วยเทคนิคชั้นสูงในทุกซอกทุกมุมที่ตามองเห็น ด้วยความประณีตอย่างสูงของช่างนาฬิการะดับปรมาจารย์

ในส่วนของหน้าปัดนาฬิกา มีการฉลุแบบ Openwork ไว้ตรงส่วนล่างและวางตำแหน่งของสเกล Power Reserved จากกระปุกลานคู่ได้อย่างสมดุลระหว่างหน้าปัดย่อยของเข็มจับเวลาแบบ ⅙ วินาที ที่เรียกว่า “Seconde foudroyante” ในส่วนด้านบนของหน้าปัดมีการวางหน้าปัดย่อยสำหรับบอกเวลาไว้ตรงตำแหน่ง 9 นาฬิกา พร้อมกับหน้าต่างบอกเวลากลางวัน-กลางคืน และวางหน้าปัดย่อยของเข็มบันทึกเวลา 60 นาที และ 12 ชั่วโมง รวมทั้งหน้าต่าง Moonphase บอกข้างขึ้นข้างแรมตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา และวางตำแหน่งของเข็มจับเวลาหลักซ้อนกับเข็มวินาทีไว้ตรงแกนกลางของหน้าปัดโดยมีการแยกสีออกจากกันอย่างชัดเจน 

หน้าปัดนาฬิกาให้เลือก 2 สี ได้แก่ Opaline สีเงิน ในตัวเรือน Pink Gold 18K และหน้าปัด Opaline สีทองแดง ในตัวเรือน Platinum 950 ขนาด 42.5 มิลลิเมตร หนา 14.2 มิลลิเมตร กันน้ำลึก 50 เมตร ที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนมากถึง 34 ชิ้น ซึ่งผ่านการขัดเงาและขัดด้านด้วยเทคนิค Micro Blasted รวมทั้งยังใช้เม็ดมะยมดีไซน์ใหม่ที่มีรอยหยักลึกและคมเพื่อช่วยในการไขลานได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และใช้กระจกหน้าปัด Sapphire แบบ Box ดีไซน์โค้งมนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาพก “savonette” ในช่วงศตวรรษที่ 19 

Jaeger-LeCoultre Duometre Chronograph Moon

Ref.Q622252J Pink Gold 
ราคา 2,690,000 บาท 
Ref.Q622656J Platinum
ราคา 3,310,000 บาท 
วางจำหน่าย ภายในปี 2024
รายละเอียดเพิ่มเติม jaeger-lecoultre.com

Initial Thoughts 

Jaeger-Lecoultre ได้นำรูปแบบของกลไก Calibre 19/20RMSMI ในนาฬิกาพกที่ถูกผลิตขึ้นในปี 1881 ซึ่งนับว่ามีความซับซ้อนสูงมากด้วยบรรจุกระปุกลานไว้ถึง 2 ชุด ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดเป็นคอลเลกชัน Duometre ในปี 2007 เพื่อเป็นการสดุดีให้กับ Antoine LeCoultre ช่างนาฬิกาและนักประดิษฐ์อัจฉริยะ ผู้มีความมุ่งมั่นในการคิดค้นและสร้างสรรค์เรือนเวลาที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งต้องอาศัยความพยายาม ความอดทน และต้องอาศัยระยะเวลาอันยาวนาน จนกลายเป็นจิตวิญญาณของแบรนด์ Jaeger-LeCoultre มาตลอดระยะเวลาเกือบ 200 ปี ตั้งแต่ปี 1833 จนถึงปัจจุบัน