“Passion ทำให้เราลืมเวลา” คำกล่าวจาก Jean-Jacques Fiechter ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Blancpain ช่วงระหว่างปี 1950-1980 และด้วยความรู้สึกนี้ในใจทำให้เขามีความฝันถึงนาฬิกาที่แข็งแกร่ง ไว้ใจได้ มีความสามารถในการกันน้ำ และมองเห็นได้อย่างชัดเจน ให้มาเป็นอุปกรณ์คู่ใจใต้น้ำของเขาและสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นจากการรังสรรค์ของเขาคือ นาฬิกาดำน้ำแบบโมเดิร์นเรือนแรกของโลกซึ่งกลายเป็นนาฬิกาที่กำหนดลักษณะหน้าตาของนาฬิกาดำน้ำทั้งมวลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้อีกหนึ่งแพชชั่นของ Jean-Jacques Fiechter ได้แก่ วรรณกรรม เขาจึงได้ใช้เพลงของ Ariel จากผลงานของ Shakespeare ชื่อ The Tempest มาเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อให้กับเรือนเวลาเรือนใหม่ที่เพิ่งออกจากเวิร์กชอปของ Blancpain
Passion ในการดำน้ำของ Jean-Jacques Fiechter กระตุ้นเขาให้คิดค้นนาฬิกาที่เหมาะสมกับกีฬาชนิดนี้ ประสบการณ์ตรงของเขาในฐานะนักดำน้ำได้นำทางให้เขามีความสามารถในกำหนดคุณสมบัติที่จำเป็นต่าง ๆ ขึ้นมาได้ ตามคำอธิบายของเขา ในยุคดังกล่าว การจะจดสิทธิบัตรได้นั้นต้องกระทำหลังจากที่ตัวสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้นสิทธิบัตรชุดแรกของเขาจึงเกิดขึ้นในปี 1954 มีการจดสิทธิบัตรในหลายประเทศให้กับนวัตกรรมทั้งหมดสามรายการได้แก่ ขอบหน้าปัดจับเวลาที่สามารถล็อคได้ ฝาหลังตัวเรือนสองชั้น และวงแหวน “O” ring สองชั้นที่เม็ดมะยม
หลังจากการพบเจอกับ Jean-Jacques Fiechter ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ของ นาวาเอก (Captain) Robert “Bob” Maloubier และเรือเอก (Lieutenant) Claude Riffaud สองนายทหารของกองทัพเรือฝรั่งเศสผู้ก่อตั้งหน่วยรบใต้น้ำของฝรั่งเศษ ก็จากไปพร้อมกับนาฬิกา Fifty Fathoms เรือนตัวอย่างเพื่อนำไปใช้ในการทดสอบ ผลปรากฏว่านาฬิกาผ่านการทดสอบไปได้อย่างงดงาม กองทัพเรือฝรั่งเศสจึงได้เลือก Fifty Fathoms ให้เป็นนาฬิกาดำน้ำประจำหน่วย หนึ่งปีหลังจากการส่งมอบอย่างเป็นทางการ Claude Riffaud ได้เขียนจดหมายถึง Spirotechnique ผู้จัดจำหน่ายนาฬิกา Blancpain Fifty Fathoms เพื่อแจ้งถึงความพึงพอใจที่เกิดขึ้นของนักดำน้ำประจัญบาน
ด้วยประสิทธิภาพในการกันน้ำ ระบบปะเก็นสองชั้นบริเวณเม็ดมะยม กลไกขึ้นลานอัตโนมัติ หน้าปัดสีเข้มที่ตัดกันอย่างชัดเจนกับสารเรือนแสงที่หลักบอกเวลา ขอบหมุนสำหรับจับเวลาที่ล็อคได้ และคุณสมบัติในการป้องกันสนามแม่เหล็ก ทำให้ Fifty Fathoms กลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับนักดำน้ำในการปฏิบัติภารกิจใต้ผืนทะเล ซึ่งความยอดเยี่ยมของ Fifty Fathoms ทำให้นาฬิกาโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนถูกหน่วยซีล (Seals) หน่วยปฏิบัติภารกิจใต้น้ำแห่งของกองทัพเรือสหรัฐฯเลือกใช้ รวมไปถึงกองทัพเรือเยอรมัน และอิสราเอล นอกเหนือไปจากการใช้งานทางการทหาร เรือนเวลานี้ยังถูกเลือกใช้โดยกลุ่ม GERS ของฝรั่งเศสที่ศึกษาและวิจัยโลกใต้ทะเลโดยมีกลุ่มนักดำน้ำในตำนานของ Jacques-Yves Cousteau ที่สวมใส่นาฬิกา Blancpain Fifty Fathoms ในขณะที่ถ่ายทำภาพยนตร์ระดับรางวัลเรื่อง The Silent World
ช่วงยุค 1980 ถึงยุค 2000 พัฒนาการของ Fifty Fathoms ถูกหยุดไว้ จนกระทั่งการเข้ามาของ Marc A. Hayek ในฐานะผู้นำของ Blancpain เฉกเช่นเดียวกับ Fiechter เมื่อหลายทศวรรษก่อน Hayek เป็นผู้หลงใหลในการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ เขาค้นพบ Fifty Fathoms เรือนวินเทจภายในห้องนิรภัยของ Blancpain และหลงเสน่ห์ในสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเอกของ Fiechter ขึ้นมาทันที นั่นทำให้ Hayek ปฏิญาณว่าเขาจะต้องนำประวัติศาสตร์และประเพณีนี้ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งหนึ่ง
นาฬิกา Fifty Fathoms รุ่นครบรอบ 50 ปีในปี 2003 แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและความต่อเนื่อง มาพร้อมกับหน้าปัดดีไซน์เดิมจากยุค 1953 ที่มีตัวเลขและหลักชั่วโมงขนาดใหญ่ สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งการผจญภัย ตัวเรือนยังคงใช้วัสดุสแตนเลสสตีลแต่ในเวอร์ชั่นปี 2003 มีความสามารถในการกันน้ำถึง 300 เมตรหรือประมาณ 165 ฟาธอมส์ เนื่องด้วยการใช้ตัวเรือนแบบขันเกลียว เม็ดมะยมแบบขัดเกลียว และกระจกแซฟไฟร์คริสตัลที่มีความหนา
นอกจากการเปิดตัว Fifty Fathoms รุ่นยุคปัจจุบันแล้ว Blancpain ยังได้เผยถึงโครงการอนุรักษ์มหาสมุทรโครงการแรกของแบรนด์ภายใต้ชื่อ World Shark Project ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ Fifty Fathoms ในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดโลกใต้ท้องทะเล จุดประสงค์ของโครงการร่วมระหว่าง Shark Trust และ PADI Project AWARE ที่สนับสนุนโดย Blancpain นี้คือการดึงกลุ่มนักดำน้ำทั่วโลกให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยืนยันตัวตนของเหล่าฉลามวาฬเพื่อช่วยจัดทำข้อมูลที่ครอบคลุมครบถ้วนและนำไปสู่การปกป้องต่อไป