ค้นพบความเปลี่ยนแปลงใน AP Royal Oak ref.15202 ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการ

Words: Artit polsukcharoen

นาฬิการุ่นที่เรียกว่าเป็น iconic ของแบรนด์ Audemars Piguet หรือ AP คือ Royal Oak ถือกำเนิดมาในปี 1972 ออกแบบโดย Gérald Genta นักออกแบบนาฬิการะดับตำนานของโลก

ตัวเรือน Monocobloc ของ Royal Oak ref.5402st

เริ่มจาก ref.5402st ใช้ตัวเรือนแบบชิ้นเดียว (monobloc) โดยที่ไม่มีฝาหลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกันน้ำในยุค 1970s โดยการผลิตตัวเรือนเริ่มจากการนำโลหะทั้งชิ้น มาคว้านลงไปให้มีขนาดและมิติให้พอดีกับกลไกและระบบกันสะเทือนที่จะวางลงไป

ภาพจำลองชิ้นส่วนต่างๆของ Original Royal Oak ref.5402st

การประกอบนาฬิกาจะวางเครื่องจากด้านหน้าของนาฬิกาแล้วก็ใส่ชิ้นส่วนของซีลกันน้ำและขอบหน้าปัดด้านนอกแล้วขันสกรูร้อยยึดขอบหน้าปัดและเคสตัวเรือนเอาไว้ และพอถึงเวลาเซอร์วิสต้องเปิดจากด้านหน้าเท่านั้น ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าแบบเปิดด้านหลังพอสมควร ซึ่ง AP ยังคงการผลิตนาฬิกาแบบตัวเรือนชิ้นเดียวมาตั้งแต่ปี 1972 ref.5402st กลไก JLC cal.920 ขนาดตัวเรือน 39mm หรือที่เรียกกันว่า Jumbo case เพราะในยุคนั้น นาฬิกาขนาด 39mm ถือว่าเรือนใหญ่มาก


หน้าปัด Petite Tapiserie และ AP Logo

จนมาถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีของระบบการกันน้ำทันสมัยขึ้น แต่ Royal Oak ref.15202st ในปี 2012 ยังคงความคลาสสิคเอาไว้ ด้วยการเลือกใช้ตัวเรือนแบบ monobloc ใช้หน้าปัด “Petite Tapiserie Pattern” และ “AP logo” ไว้ตรง 6 น. วางในตำแหน่งเดียวกับ Original ref.5402st เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของ Royal Oak

โดยมีความเปลี่ยนแปลงจากรุ่น Original เพียงเล็กน้อย แค่เพิ่มการเจาะเคสด้านหลังเพื่อโชว์กลไก cal.2121 ที่ AP ซื้อพิมพ์เขียวมาจาก JLC (Jaeger LeCoultre) มาปรับปรุงและผลิตในโรงงานของ AP เอง แต่ยังใช้รูปแบบจากเครื่องเดิมที่ออกแบบและใช้งานมาตั้งแต่ยุค 1970s

บน: ซีรีย์ J ปี 2016 , ล่าง: ซีรีย์ I ปี 2015

จุดสังเกตแรกที่ทำให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ น่าจะเริ่มต้นจากการเปรียบเทียบเคสตัวเรือนของซีรีย์ I ปี 2015 และ J ปี 2016  สังเกตเห็นว่า เคสฝาหลังต่างกัน โดยซีรีย์ I นั้นจะเป็นแบบชิ้นเดียว แต่ J เป็นแบบ 2 ชิ้น และเพื่อเป็นการคลายข้อสงสัย เราเลยสอบถามกับ AP ผ่านทางอีเมล์ และได้คำตอบว่า

“Regarding your inquiry, please be informed that there is a modification done on the case for the model 15202ST , it used to be a monobloc and it is now a 2 pieces for the case and back case. We are unable to reply to you on the reason changed as this is a private information that Audemars Piguet will not divulge.”


สรุปสั้นๆว่า มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็น Monobloc มาเป็นแบบ 2 ชิ้น คือ ตัวเรือนและฝาหลัง แต่ทาง AP ไม่สามารถบอกเหตผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทราบได้ เราจึงไม่ทราบเหตผลที่แท้จริงจากทาง AP แต่คาดเดาว่า น่าจะเป็นเหตผลเรื่องความสะดวกในการ service เป็นหลัก

เพราะเท่าที่ได้พูดคุยกับช่างนาฬิกามืออาชีพ ให้คำแนะนำว่าการเซอร์วิสนาฬิกา ต้องทำการเปิดนาฬิกาเพื่อยกเครื่องออกมาทางด้านหน้าของตัวเรือน จะทำได้ยากและเสี่ยงต่อความเสียหายมากกว่าการเปิดเครื่องจากด้านหลังเหมือนนาฬิกาทั่วไป และเมื่อเทียบกับนาฬิกา Royal Oak รุ่นอื่นๆที่มีจำหน่าย ก็ใช้เคสแบบ 2 ชิ้นหมดทุกรุ่น

บน: ซีรีย์ J ปี 2016 , ล่าง: ซีรีย์ I ปี 2015

จุดสังเกตต่อมา นอกจากเคสตัวเรือนแล้ว ฝาหลังของเรือนที่เปลี่ยนมาใช้เคสแบบ 2 ชิ้น ในตำแหน่ง 12 น. จะมีการสลักคำกว่า Royal Oak แทนที่ case No.XXXX แบบเดิม และความเปลี่ยนแปลงๆเล็กๆนี้จะเริ่มที่ซีรีย์ J กลางๆเป็นต้นมา ส่วนซีรีย์ J ต้นๆนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยว ยังใช้เคสแบบชิ้นเดียวอยู่ ส่วน ref.15202 precious metal ที่ผลิตในช่วงเวลาเดียวกันน่าจะเป็นแบบ 2 ชิ้นเหมือนกันหมด

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่มีผลต่อการใช้งานจริง เพราะขนาดตัวเรือน ความสามารถในการกันน้ำ และกลไกยังเหมือนเดิมทุกประการ แต่อาจจะกระทบจิตใจกับนักสะสมไปบ้าง เมื่อกลิ่นไอของความดั้งเดิมจากรุ่นแรกจางลง แต่ก็คงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะถึงยังไง Royal Oak Jumbo ก็ยังเป็นรุ่นสุดคลาสสิคตลอดกาล ส่วนเรื่องมูลค่าเพิ่มหรือความนิยมในอนาคตคงเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มหรือบุคคลเท่านั้น